เครื่องปั้นดินเผาหมายถึง ภาชนะและเครื่องมือเครื่องที่ทำจากดินเป็นรูปทรงต่างๆ ตามต้องการ อาจจะเป็นดินเหนียว ดินขาว หรือดินชนิดต่างๆ แล้วนำไปชุบน้ำเคลือบหรือไม่ก็ได้ หลังจากนั้นจึงนำไปเข้าเตาเผา
เครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างแนบแน่นมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งนี้เพราะเครื่องปั้นดินเผาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นบนเงื่อนไขความต้องการของสังคมที่เป็นเจ้าของ เป็นผลงานจากมันสมองและฝีมือของผู้สร้าง ซึ่งมิได้มีความหมายแต่เพียงคุณค่าทางสุนทรียะเท่านั้น หากแต่ยังเป็นงานช่างฝีมือที่แสดงถึงภูมิปัญญาและพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีของ ชุมชนที่สั่งสมและสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน
ดังนั้นเครื่องปั้นดินเผาจึงมีแง่มุมให้ศึกษาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี รูปแบบ และวิถีชีวิตของสังคมที่ผลิตและใช้เครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้น
ในดินแดนล้านนาก็เช่นกัน พบหลักฐานของความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตชุมชนกับเครื่องปั้น ดินเผาที่สืบเนื่องกันมานานนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากการพบภาชนะดินเผาลายเชือกทาบฝังรวมกับเครื่องมือหินที่ถ้ำผีแมนบนเทือกเขาสูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบการใช้เครื่องปั้นดินเผาที่ สืบเนื่องจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ตามแนวลำน้ำแม่กวงตั้งแต่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงจังหวัดลำพูนในแหล่งโบราณคดีต่างๆ เช่น บ้านยางทองใต้ อำเภอดอยสะเก็ด บ้านสันป่าค่า อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านวังไฮ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และพบว่าการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนแถบนี้ยังคงมีการผลิตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคอาณาจักรหริภุญไชย ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบเครื่องปั้นดินเผาที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ ลวดลายที่ใช้ประดับเจดีย์ และภาชนะที่บรรจุอัฐคนตาย เป็นต้น
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนล้านนาได้พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและรูปแบบมาจนถึงยุคของการทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบในพุทธศตวรรษที่ 19-22 ซึ่งนับเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาล้านนา จากการสำรวจในปัจจุบันได้พบกลุ่มเตาเผาในยุคนี้เป็นจำนวนมาก ในเขตจังหวัดต่างๆ เช่น กลุ่มเตาสันกำแพง กลุ่มเตาสันทราย และกลุ่มเตาอินทขิลในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเตาบ้านบัว และบ้านโทกหวากในจังหวัดพะเยา กลุ่มเตาพาน ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และกลุ่มเตาเวียงกาหลง ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
นอกจากนั้นในเขตภาคเหนือโดยเฉพาะที่เชียงใหม่และลำปางปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก
จากความสำคัญและพัฒนาการการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ต่อเนื่องมายาวนานในภาคเหนือนี้เอง ทำให้ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้จัดตั้งโครงการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาขึ้นใน พ.ศ.2525 โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวม ศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาล้านนา เพราะเชื่อว่าเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้มีส่วนช่วยในการคลี่คลายปัญหาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ล้านนาได้ในระดับหนึ่ง
ในปัจจุบันนี้โครงการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาได้เก็บตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาจากกลุ่มเตาต่างๆ ที่ได้มาจากการสำรวจกลุ่มเตาเผา เขตเมืองโบราณ และการบริจาคไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกในการศึกษาและการทำวิจัยได้มีการทำรหัสประจำเครื่องปั้นดินเผาทุกชิ้น รวมทั้งมีการทำรายละเอียดของเตาเผาแต่ละแห่ง ทั้งตำแหน่งที่ตั้งและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละกลุ่มเตา รวบรวมหนังสือและบทความเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ทุกวันนี้โครงการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาเป็นที่รู้จักของนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาทั้งในและต่างประเทศ มีนักวิชาการและผู้สนใจเดินทางเข้ามาศึกษาเครื่องปั้นดินเผาและเยี่ยมชมโครงการฯเสมอ รวมทั้งได้มีผู้นำข่าวสารและเครื่องปั้นดินเผามามอบให้กับโครงการฯ ด้วย
ภาควิชาประวัติศาสตร์มีความหวังว่าโครงการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาจะกลายเป็นแหล่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาล้านนา เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยโดยใช้เครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องมือในการศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนของยุคสมัยที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผานั้นๆ นอกจากนั้นยังหวังว่าความสำคัญและความสวยงามของเครื่องปั้นดินเผาจะเป็นสิ่งกระตุ้นความสนใจของบุคคลต่างๆ ให้หันมาใจในเรื่องเครื่องปั้นดินเผาอย่างกว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น