เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด


ตำนานเครื่องปั้น

การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ตำบลเกาะเกร็ด  อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชนชาติมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าคงจะมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่อยู่เมืองมอญก่อนที่จะอพยพเข้ามาในประเทศไทย เมื่อชาวมอญได้รับพระบรมราชานุญาต ได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณปากเกร็ดซึ่งสภาพดินเหมาะสมในการทำเครื่องปั้นดินเผา

เมื่อมาตั้งบ้านเรือนบริเวณเกาะเกร็ดหมู่  ๑, ๖, ๗ จึงกลายเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษามอญว่า กวานฮาโม (บ้านล่าง), กวานฮาตาว(บ้านบน), กวานอาม่าน, กวานโต้ และ กวานอะล้าด  เครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ดมีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก  ตกแต่งแบบเรียบง่ายหรืออาจมีการแกะสลักลวดลายบ้างเพียงเล็กน้อย ได้แก่ โอ่ง อ่าง  ครก   กระปุก  และโอ่งพลู  เป็นต้น

ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ทำขึ้นเพื่อมอบแก่บุคคลสำคัญ ก็จะมีหลายรูปแบบ เช่น หม้อน้ำ  โอ่งสลักลายวิจิตร ซึ่งสามารถสั่งทำได้เกือบทุกรูปแบบตามความต้องการของผู้สั่ง ทางราชการได้เห็นคุณค่าของการทำเครื่องปั้นดินเผาจึงได้ถือเอา หม้อน้ำลายวิจิตร เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น